Ground Reaction Forces, Center of Pressure & Center of Mass

เรื่องการถ่ายน้ำหนักนั้นเป็น topic หนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักกอล์ฟระดับกลางถึงระดับสูงส่วนมากพยายามศึกษาเรื่องนี้เพื่อนำไปปรับใช้ร่วมกับวงสวิงของตัวเอง แต่จากที่ผมได้สอนนักเรียนหลายท่านนั้นกลับรู้ได้เลยครับว่าหลายคนนั้นตีความหมายบางอย่างผิดออกไป หากเราเปิดตำราหรือเปิดดูคลิปการสอนตามยูทูปนั้น

เรื่องการถ่ายน้ำหนักนั้นจะถูกแบ่งหลักๆ ออกเป็น 2 รูปแบบครับ

รูปแบบที่ #1  ถ่ายจากขวา >> ซ้าย 

เริ่มขั้นตอนที่

1.1 การจรดสำหรับการตีเหล็กนั้นให้จรดกระจายนำ้หนักลงเท่าๆกันทั้งสองเท้า คือ 50-50% หรือบางตำราก็ 55-45% (เท้าซ้าย-เท้าขวา) ส่วนถ้าเป็นหัวไม้ 40-60% 

1.2 หลักการในการถ่ายน้ำหนักเริ่มขวาและจบซ้าย โดยเวลาขึ้นไปถึงสุดที่ตำแหน่งท๊อปสวิงน้ำหนักจะถ่ายไปทางเท้าขวา 70-80% และ เริ่มต้นดาวน์สวิงด้วยการถ่ายกลับมาทางซ้าย โดยที่ตำแหน่งอิมแพคน้ำหนักจะต้องอยู่เท้าซ้ายแล้ว 80-90%

(Photo credit : https://www.golfdigest.com/story/sean-foley-copy-the-best-ball-strikers)

______________________________________________________________________________________

รูปแบบที่ #2  ทิ้งน้ำหนักไว้ซ้าย

เมื่อปี 2004 กลับมีทฤษฎีใหม่เกิดขึ้นถูกเรียกว่า stack and tilt ถูกคิดขึ้นโดย Michael Bennett และ Andy Plummer ซึ่งขัดแย้งกับหลักเดิมอย่างมากครับ โดยแนวคิดของทฤษฎีนี้ริเริ่มจากพวกเขาทั้งสองคนเล็งเห็นปัญหาของคนส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถตีโดนอิมแพคลูกได้อย่างสม่ำเสมอ 

ขั้นตอนของทฤษฎีมีองค์ประกอบ ดังนี้

2.1 ยืนกระจายน้ำหนัก 60-40 ทิ้งไว้ด้านซ้ายตั้งแต่เริ่มจรด 60% และอยู่ทางขวา 40% 

2.2 หลักการสวิงนี้จะใช้ขาซ้ายเป็นจุดหมุนตลอดระยะการสวิง เวลาขึ้นไม้ไปที่ตำแหน่งท๊อปสวิงน้ำหนักจะลงขาซ้ายเพิ่มขึ้นเป็น 70% และตอนเริ่มลงไม้กดซ้ายเพิ่มอีกจนกระทั่งไปถึงอิมแพคถึงส่งไม้ น้ำหนักจะไปอยู่ทางซ้าย 90-95% แน่นอนครับว่าการใช้จุดหมุนเดียว(ขาหน้า)ในวงสวิงเช่นนี้เพิ่มโอกาสในการตีโดนลูกให้แม่นยำยิ่งขึ้น เพราะไม่มีการเปลี่ยนแกนและย้ายจุดหมุนในช่วงระหว่างการตีครับ

(Photo credit : https://www.golftipsmag.com/instruction/full-swing/stack-and-tilt/)

คำถาม คือ แบบไหนผิด แล้วแบบไหนถูกต้อง ?? 

แน่นอนครับว่าถ้าเราสนใจในแง่ของ power แบบที่หนึ่ง(ถ่ายจากขวาไปซ้าย) นั้นดีกว่าแบบที่สอง(stack and tilt) อย่างแน่นอน ** ถ้าอยากรู้เหตุผลว่าทำไมล่ะก็ ผมจะเขียนเอาไว้ในหัวข้อที่ 4 เรื่อง moment/torque vs moment arm ** 

แต่ถ้าหากเราจะไปบอกว่าแบบที่สองนั้นผิดก็คงจะไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่ครับ เพราะหลักการของเขาถูกคิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในเรื่องของความแม่นยำ 

โดยทั่วไปแล้วตามปกติจากนักเรียนของผมและคนส่วนใหญ่นั้นมีการถ่ายน้ำหนักตามรูปแบบที่หนึ่งครับ ยินดีด้วย แต่!! ทว่าก็ยังไม่ใช่การถ่ายน้ำหนักที่สมบูรณ์แบบหรือแบบที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดครับ 

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มลงไปในรายละเอียดที่ลึกลงไปมากกว่านี้ ผมอยากทำการปูความเข้าใจเบื้องต้นก่อนครับใน 4 ประเด็นสำคัญ !! ..ที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามันคือเรื่องเดียวกัน โดยเราจะมาคอยๆ ไล่ไปตามหัวข้อ ดังนี้

1. Center of Mass           

2. Center of Pressure 

3. Ground Reaction Forces

4. Moment of force
- Moment vs. Moment arm 

ความหมายของแต่ละตัวนั้น คือ อะไร ? ...เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร ?? รู้แล้วได้อะไร ??? แล้วมันต้องนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติจริงอย่างไร ????  *** ถ้าหากอ่านแล้วไม่เข้าใจให้ข้ามไปที่บทสรุปของแต่ละหัวข้อครับ ***                                                                                                                                                         

มาเริ่มต้นกันที่ ...

1. Center of Mass (COM ; จุดศูนย์กลางมวล) คือ อะไร ??

คือ จุดที่เสมือนเป็นที่รวมของมวลทั้งก้อน ยกตัวอย่างง่ายๆครับ หากเราจะหาจุดสมดุลของไม้กอล์ฟ โดยปกติแล้วเราจะเพียงนำก้านไม้กอล์ฟวางไว้บนนิ้วชี้ของเราหากจุดไหนที่สามารถประคองไม้เอาไว้ไม่หล่นลงพื้นได้นั้นแหละครับ คือ จุดศูนย์กลางมวล เราจะพบว่านิ้วของเราจะอยู่ใกล้กับฝั่งของหัวไม้มากกว่าฝั่งกริ๊ฟ เพราะว่าหัวไม้มีน้ำหนักมากกว่าฝั่งกรื๊ฟ

(Photo credit : dywiann‐xyara.tumblr.com; Hall, 2007, Dr. Young Hoo-Kwon)

แล้วจุดศูนย์กลางมวลของร่างกายเราอยู่ตรงไหน ? และจุดนี้ต้องทำหน้าที่อย่างไรในวงสวิง ??

กล่าวได้เช่นเดียวกันกับร่างกายของคนเราครับ ในแต่ละส่วนของร่างกายมนุษย์นั้นมีน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง ขาแต่ละข้างของผู้ชายนั้นจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 14% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด และร่างกายส่วนบนมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด จากการคำนวณในแต่ละสัดส่วนออกมาทำให้เราหาจุดศูนย์กลางมวลรวมที่ร่างกายได้ หากเรายืนตัวตั้งตรง สำหรับผู้ชายจุดศูนย์กลางมวลจะอยู่บนสะดือเพียงเล็กน้อย(ในรูปด้านล่าง รูปแรกวงกลมสีฟ้า รูปสองวงกลมสีแดง) แต่สำหรับผู้หญิงจะอยู่ต่ำกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะว่าผู้ชายมีมวลรวมที่ร่างกายช่วงบนมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงก็ไม่น้อยหน้าครับ 555+ ..ผู้หญิงมีมวลรวมที่ร่างกายส่วนล่างมากกว่าผู้ชายครับ

(Photo credit : Dr. Michael Duffey Biomechanist, Golf Teaching & Research Center • Penn State / Eric Handley, PGA Director, Golf Teaching & Research Center • Penn State)

 (Photo credit : Dr. Young-Hoo Kwon, a professor at Texas Woman's University, has his Ph.D. in exercise and sport science, with a specialization in biomechanics)

แต่ทว่าจริงๆ แล้วจุดศูนย์กลางมวลนี้จะไม่ได้ยึดอยู่ที่จุดเดิมตลอดในช่วงระหว่างที่เราทำการสวิงไม้กอล์ฟครับ หากเราทำการขึ้นไม้ไป ลำตัวและแขนทั้งสองข้างของเราจะเคลื่อนมาอยู่ทางด้านขวา ทำให้จุดศูนย์กลางมวลรวมเคลื่อนย้ายไปทางขวาด้วยเช่นกัน แต่แล้วข้อผิดพลาดของคนส่วนใหญ่ คือ เมื่อรับรู้ถึงตัวเลขของการถ่ายน้ำหนักแล้วว่าต้องถ่ายไปทางเท้าขวาถึง 80% คนส่วนใหญ่จึงพยายามหมุนลำตัวพร้อมกับเคลื่อนแกนออกไปทางขวามากจนเกินไป เพื่อให้ได้น้ำหนักลงที่เท้าขวาเต็มๆ แต่ผลปรากฎว่า แกนหลุดออกจากตำแหน่งที่เหมาะสมทำให้การออกแรงจากตำแหน่งนั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบากครับ เช่นกันครับเวลาลงไม้เมื่อรับรู้ว่าต้องถ่ายกลับไปทางซ้ายก็ดันโถมไปทั้งตัวเช่นกัน ตกลงแล้วจะใช้ไม้เหวี่ยงไปที่ลูก หรือ จะใช้ตัวไถตัวไปใส่ลูกกอล์ฟกันแน่ 555+ ให้ลองทดสอบด้วยการสวิงลมด้วยการโยกน้ำหนักตัวหรือแกนไปมาในแนวด้านข้าง แบบที่ผมว่าในข้างต้น บอกเลยครับว่าคุณแถบจะไม่ได้ยินเสียงของไม้ที่แหวกกับอากาศเลยล่ะครับ 

**  สรุปข้อที่ 1  **                                                                                                                                                                                                                                                                                         คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำหนัก ด้วยวิธีการเคลื่อนจุดศูนย์กลางมวลหรือขยับแกนของร่างกายไปมามากขนาดนั้นเลยครับ ...พูดง่ายๆ คือ คุณไม่จำเป็นต้องพยายามทำมันมากขนาดนั้น เพื่อให้ได้มันมา 555+ ที่จริงแล้วหลักๆ คุณต้องทำการถ่ายแรงกดไปมาระหว่างเท้าต่างหาก อ้าว เฮ้ย..!! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่น่า 555+... แล้วมันยังไงกันล่ะเฮ้ย >,< อ่านกันต่อที่ข้อ 2 ดีกว่าครับ 

________________________________________________________________________________________________________________________________________________

2. Center of Pressure (COP ; จุดศูนย์กลางแรงดัน) คือ อะไร ? แล้วถ่ายแรงกดที่ว่าต้องทำอย่างไร ?? 

จุดศูนย์กลางแรงดันรวม พูดง่ายๆ คือ ตําแหน่งที่เป็นศูนย์รวมแรงที่เท้าทั้งสองออกแรงกระทํากับพื้นเป็นแนวแรงแกนตั้ง (รูปด้านล่าง ลูกศรสีเหลืองกึ่งกลางตัว) หากสมมุติว่า คนมีน้ำหนัก 100 kg ยืนอยู่บนพื้นตามปกติ ให้ยืนลงน้ำหนักลงเท่าๆกันทั้งสองฝั่งแปลว่าแต่ละข้างจะมีน้ำหนัก 50/50 kg เท่าๆกัน จุดศูนย์กลางแรงกด (ลูกศรสีเหลือง) นั้นจะอยู่ช่วงกึ่งกลางระหว่างทั้งสองข้างและตรงกับจุดศูนย์กลางมวลพอดีอีกด้วย 

(Photo credit : Dr. Michael Duffey Biomechanist, Golf Teaching & Research Center • Penn State / Eric Handley, PGA Director, Golf Teaching & Research Center • Penn State)

ถ้าหากคนนี้ยืนลงน้ำหนักที่เท้าขวา 75% (75kg) และเท้าซ้าย 25% (25kg) แน่นอนครับว่าจุดศูนย์กลางแรงกดรวมจะย้ายมาอยู่ทางขวา 75% วัดระยะทางจากเท้าซ้ายมา และถ้าหากคนนี้โยกตัวมาทางขาข้างขวาแน่นอนเลยครับว่า จุดศูนย์กลางมวล (com) และ จุดศูนย์กลางแรงดัน (cop) จะอยู่ตรงเป็นแนวเดียวกับเท้าขวาครับ แต่ com และ cop จะอยู่ตรงกันแค่ในสภาวะหยุดนิ่งเท่านั้นครับ (ภาพล่าง)

(Photo credit : Dr. Michael Duffey Biomechanist, Golf Teaching & Research Center • Penn State / Eric Handley, PGA Director, Golf Teaching & Research Center • Penn State)

แต่ในความเป็นจริงแล้วเวลาที่เราสวิงนั้น มีการเคลื่อนไหวตลอดทั้งสวิงไม่มีช่วงหยุดนิ่ง ดังนั้น ลูกศรทิศทางของแนวแรงจะเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา เราจะสังเกตเห็นได้ที่น้ำหนัก(com) กับ แรงดัน(cop) จะอยู่ไม่ตรงกัน ยกตัวอย่าง ในภาพด้านล่างนี้ที่ตำแหน่งท๊อปสวิงนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า แรงดันรวม และ แรงรวมทั้งหมดจากพื้น จะเริ่มเคลื่อนออกมาจากเท้าขวามุ่งหน้าเข้าสู่ทิศทางเท้าซ้าย ในขณะที่จุดศูนย์กลางมวลยังคงอยู่ที่เดิมอยู่

(Photo credit : Dr. Michael Duffey Biomechanist, Golf Teaching & Research Center • Penn State / Eric Handley, PGA Director, Golf Teaching & Research Center • Penn State)

ในช่วงระหว่างสวิงแรงกดจะย้ายไปในทิศทางที่เราตั้งใจกดครับ คำสอนที่บอกว่า ขึ้นไม้ให้ลงน้ำหนักที่ขวาหรือความรู้สึกในการ load ลงที่ขาขวาในช่วงขึ้นไม้นั้น ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องตั้งใจโยก(มวล)ทั้งตัวเพื่อให้ได้แรงกดที่เท้าครับ จุดศูนย์กลางมวลหรือจุดหมุนแกนหมุนของเราสามารถรู้สึกว่าหมุนอยู่ที่เดิมได้ครับ แต่ต้องมีแรงกดย้ำลงทางเท้าขวาในช่วงเริ่มขึ้นไม้ และ แรงกดย้ำลงเท้าซ้ายในช่วงเริ่มลงไม้เช่นกันครับ

(Photo credit : Boditraksports.com)

**  สรุปข้อที่ 2  ** 

หากนักกอล์ฟสามารถควบคุมน้ำหนักไม่ให้เคลื่อนไหวในแนวข้างมากจนเกินไปได้ และ ยังสามารถควบคุมจังหวะการถ่ายแรงกดจากขวา ไป ซ้าย ได้ถูกช่วงจังหวะระหว่างสวิง จะส่งผลให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้สมบรูณ์แบบ พูดง่ายๆ คือ อยู่ในท่วงท่าที่สามารถออกแรงสวิงได้เต็มเหนี่ยว ทำให้ได้ความเร็วของหัวไม้สูงสุด

________________________________________________________________________________________________________________________________________________

3. Ground Reaction Force

คือ กฎข้อที่ 3 ของนิวตัน กฎของแรงปฏิกิริยา

                                "   action = reaction  "

ทุกๆ แรงกระทำย่อมมีแรงสะท้อนกลับคืนมาโดยมีขนาดเท่ากันในทิศทางตรงข้าม  

(Dr. Young-Hoo Kwon, a professor at Texas Wity, has his Ph.D. in exercise and sport science, with a specialization in biomechanics)

การสร้างสปีดและพลัง ตามหลักชีวกลศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นกีฬาจำพวกขว้าง, เตะ, กระโดด, วิ่ง, ตี,... ล้วนแต่ต้องใช้ทักษะประสานการทำงานของร่างกายแต่ละส่วนให้ได้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวที่ดีที่สุด และประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายจะออกมาได้ดีมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้แรงจากพื้น 

ผมเชื่อว่านักกอล์ฟที่เล่นมาในระดับหนึ่งอาจจะคงเคยได้ยินศัพท์ทางเทคนิคอย่าง kinematic ครับ ที่จริงแล้วทางชีวกลศาสตร์ คือ การศึกษารูปแบบของการเคลื่อนไหว สามารถวัดผลออกมาด้วยเทคโนโลยี 3D เหล่านี้ ยกตัวอย่าง k-vest, my swing, AMM, GBD แต่อย่างที่บอกครับหากเราจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกว่า.. อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวแบบนั้น ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงแรงกลทางชีวภาพ (kinetics) แรงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้นๆ ผลงานวิจัยทางด้านชีวกลศาสตร์ค้นพบว่าคนที่สามารถสร้างความเร็วหัวไม้ได้มากกว่าคนปกตินั้น ล้วนใช้กลไกของร่างกายและแรงจากพื้นได้ดีทุกคนครับ ไม่ต้องแปลกใจกันเลยล่ะครับว่า ..ทำไมเราเห็นนักกอล์ฟที่มีรูปร่างสรีระที่เสียเปรียบกว่ามากแต่กลับสามารถสร้างความเร็วหัวไม้ได้มากกว่า 

หลายคนคงจะสงสัยว่าจะรู้ได้ไงว่าใช้แรงจากพื้นได้ดีหรือไม่ ?? ..แรงจากพื้นสามารถใช้เทคโนโลยี 3D ที่เรียกว่า แผ่นวัดแรงปฏิกิริยา (force plate) วัด 3 แกน x y z โดยส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้กันในห้อง lab ครับ เพราะมีน้ำหนักที่มากแถมเคลื่อนย้ายได้ลำบากมากครับ

 

แต่ก็ยังมีแบรนด์ตลาดอย่าง swing catalyst  ที่ทำแผ่นวัดแรงปฏิกิริยาออกมา ที่มีชื่อเรียกว่า motion plate ส่วนแบรนด์ boditrak, sambalance lab, s2m เป็นแผ่นวัดแรงดัน แรงในแนวแกนตั้งครับ ซึ่งเรียกว่า pressure mat หรือ pressure plate systems 

แรงปฏิกิริยาจากพื้น จะสังเกตเห็นได้จากรูปภาพด้านล่าง จะเห็นลูกศรเวกเตอร์ 3 เส้น เส้นสีฟ้าทางขวาและซ้าย คือ แรงจากเท้าขวา และ แรงจากเท้าซ้าย ส่วนลูกศรสีฟ้าเวกเตอร์ตรงกลางนั้น คือ เวกเตอร์ของแรงรวมจากพื้นทั้งหมด เวกเตอร์ผลลัพธ์แรงรวมทั้งหมดจะคำนวณจากขนาดของแรงในแนวแกนตั้ง (vertical force) และ ขนาดของแรงในแนวแกนนอน (horizontal force) และยังมีแรงอีกหนึ่งแรงที่สามารถคำนวณออกมาได้และสำคัญอย่างมากในกลไกวงสวิงเช่นกัน คือ แรงบิด (moment/torque) แรงบิดนี้จะขอไปคุยในหัวข้อที่ 4 ครับ ส่วนในตอนที่ 3 นี้ผมอยากจะอธิบายในเรื่องของแรงในแนวแกนตั้ง (vertical force) อย่างเดียวก่อนครับเพื่อจะได้ไม่สับสน 555+ 

 ในกราฟด้านล่างนี้บ่งบอกถึงแรงรวมในแนวแกนตั้งครับ เส้นสีแดงจะขึ้นไปสูงถึง 2.05 เท่าของน้ำหนักตัว พูดง่ายๆ คือ มีน้ำหนักกดลงพื้นถึง 205% ครับ

(Dr. Young-Hoo Kwon, a professor at Texas Wity, has his Ph.D. in exercise and sport science, with a specialization in biomechanics)

ในกราฟข้างล่างนี้ คือ การตั้งสมมุติฐานขึ้นมาเพื่อดูความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์กันระหว่างตัวแปร 2 ตัว คือ ความเร็วหัวไม้ กับ แรงในแกนตั้ง โดยให้กราฟแกน y คือ ค่าความเร็วหัวไม้ และ แกน x คือ แรงในแนวแกนตั้ง น้ำหนักตัวที่กดลงกับพื้น จากการวิเคราะห์จะพบว่า ความเร็วของหัวไม้มีความสัมพันธ์กับค่าแรงกดลงกับพื้นในแนวตั้ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในทิศทางที่แปรผันต่อกัน ถ้าหากพิจารณาระดับน้ำหนักความสัมพันธ์นี้ คือ r = 0.327 ถือว่ามีความสัมพันธ์กันในระดับกลางๆครับ แต่ถ้าหากเราลองวิเคราะห์เป็นเฉพาะบุคคล จุดสีแดง คือ Jamie sadlowski ที่อยู่มุมขวาบนสุดคนเดียวที่โดดเด่น สร้างแรงกดมากถึง 2 เท่ากว่าของน้ำหนักตัว ได้ความเร็วหัวไม้มากครับ แต่บางคนที่สามารถสร้างแรงกดได้ในขนาดใกล้เคียงกันกลับอยู่ค่อนข้างใต้เส้นค่าเฉลี่ยก็มี แปลว่าเราไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่า vertical force นี้ คือ ปัจจัยเพียงแค่อันเดียวที่มีผลกลับสปีดครับ เพราะยังมีเรื่องของแรงในแนวแกนอื่นอีกมากมายที่มีผลกลับความเร็วของหัวไม้ด้วยเช่นกัน

(Dr. Young-Hoo Kwon, a professor at Texas Wity, has his Ph.D. in exercise and sport science, with a specialization in biomechanics)

แรงในแนวแกนตั้งที่ว่านี้ คือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงผลลัพธ์เวกเตอร์ของแรงในแนวตั้ง หรือ แนวดิ่ง แน่นอนครับอย่างที่เรารู้กันว่า ..หากเรามีขนาดของแรงที่มากก็เท่ากับว่าเรามีแต้มต่อในระดับหนึ่ง แต่ทว่าแรงในแนวแกนตั้งนี้ คือ อะไร ?? ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ หากเราเห็นนักบาส NBA เวลาที่พวกเขาชู้ตในระยะไกล เราจะสังเกตเห็นได้ว่าร่างกายของพวกเขามีการย่อลงก่อนที่จะชู้ตลูกออกไปครับ และนั้น คือ การสร้างแรงในแนวแกนตั้งครับ การย่อลงนั้นทำให้เกิดแรงกดกระทำลงกับพื้นและในช่วงถัดมาพื้นจะผลักแรงกลับคืนขึ้นมาหาที่ตัวเราทำให้เรามีแรงส่งไปที่วัตถุมากยิ่งขึ้นนั้นเองครับ 

ยกตัวอย่าง ของคนที่ใช้แนวแรงแกนตั้งมาก tiger woods และ rory mcilroy ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ถ้าหากลองขีดเสีนที่ระดับศรีษะ และ ระดับหัวเข็มขัดเอาไว้ แล้วลองเปิดสโลโมชั่นดูจะเห็นได้ว่า

 

ร่างกายของพวกเขาทั้งคู่มากการย่อโหลด(squat) ลงมาค่อนข้างมากในช่วงเริ่มต้นลงไม้ และ ยกขึ้นกลับมาก่อนการเข้าอิมแพค จะเห็นได้จากขาทั้งสองข้างที่เหยียดขึ้นตรงจากเดิมที่ย่อเอาไว้ โดยเฉพาะขาซ้าย รวมถึงข้อสะโพกและไหล่ซ้ายจะยกขึ้นสูงมากกว่าตอนจรดค่อนข้างมากเลยทีเดียวครับ ถามว่าเทคนิคแบบนี้นำมาเป็นแบบอย่างสำหรับทุกคนได้หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่เสมอไปครับ เพราะจริงๆแล้ววงที่สามารถสร้างความเร็วหัวไม้ได้มากขนาดนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายรูปแบบมากมาย จริงแล้วๆ ผมเพียงแค่ต้องการหยิบยกขึ้นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพียงเท่านั้นครับ

**  สรุปข้อที่ 3 **

ยิ่งเราออกแรงกดกับพื้นมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ได้รับแรงจากพื้นมากขึ้นเท่านั้น หากใครอยากนำไปปรับร่วมใข้กับวงสวิงของตัวเอง ผมแนะนำว่าเบื้องต้นให้ฝึกท่า squat ก่อนครับ ให้ฝึกทำท่าทางนี้จนชำนาญ แล้วจึงคอยนำมาปรับใช้ร่วมกับการตีจริงครับ 

รอติดตามบทความครั้งหน้าได้ครับรับรองว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องที่ 4 moment/torque vs moment arm หรือ แรงบิด รวมถึงแขนของโมเมนต์ และตามสัญญาเรื่องที่ว่าทำไมการถ่ายรูปแบบ #1 ขวาซ้าย ถึงได้พลังมากกว่า รูปแบบ #2 ทิ้งซ้ายอย่างเดียว เรื่องของแรงอีกหนึ่งที่มีผลกับสปีดมากๆเช่นกันครับ

โพสล่าสุด

Our sponsor

  • Phone:
    +6690-972-7998

© Copyright 2017 Pronice.com by RSKDesigner.com